เหรียญเสมา พ่อท่านยอด สุวณฺโณ (รุ่นแรก)

เหรียญเสมา พ่อท่านยอด สุวณฺโณ (รุ่นแรก)

ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2553

ขอเชิญร่วมพิธีพุทธาภิเษกและ ทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดอ่าวบัว จ.สงขลา

ขอเชิญร่วมพิธีพุทธาภิเษกและ ทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดอ่าวบัว ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ในวันที่ 30 มีนาคม 2553

ช่วงเช้า: มีพิธีพุทธาภิเษก รูปเหมือนพ่อท่านยอด ขนาด 1.8 ซม.    ฝังอัฐิธาตุของพ่อท่านยอด ในพระอุโบสถ วัดอ่าวบัว

ช่วงบ่าย: มีการทอดผ้าป่าสามัคคีที่วัดอ่าวบัว และทางวัดเปิดให้เช่าบูชารูปเหมือนพ่อท่านยอดที่มีการทำพิธีช่วงเช้า

มีจำนวนจำกัด และคงจะสร้างเพียงครั้งเดียว 
...........โปรดอย่าพลาด...............

ชีวประวัติ และ วัตถุมงคล พ่อท่านยอด สุวณฺโณ วัดอ่าวบัว จ.สงขลา



จากใจผู้เขียน
        ด้วยความเคารพและนับถือ พ่อท่านยอด สุวณฺโณ เป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนต้องการที่จะเผยแพร่ ความดีและปฏิปทา ของพ่อท่านยอด  จึงได้พยายามทบทวนความจำเมื่อสมัยเป็นเด็กที่เคยติดตาม เถ้าแก่มุยฮง ไปกราบพ่อท่านหลายครั้ง บางข้อมูลก็ฟังจากเถ้าแก่ เวลาที่คุยกับเพื่อนๆ และเล่าให้ฟัง บางข้อมูลก็จากหลักฐานบางอย่าง เช่น หนังสือ รูปถ่าย และวัตถุมงคลเก่าๆ ที่ได้เก็บเอาไว้ ซึ่งได้บันทึก วัน เดือน ปี ไว้อย่างชัดเจน จึงขอเปิดเผยไว้ในหนังสือเล่มนี้ คิดว่านอกจากผู้เขียนแล้ว คงจะไม่มีใครที่จะรู้เรื่องได้ละเอียดเท่านี้ จะมีก็คงน้อยมาก จึงเขียนไว้เพื่อเป็นประวัติส่วนหนึ่งของ พ่อท่านยอด สุวณฺโณ และวัดอ่าวบัว สืบไป
ขอบารมี พ่อท่านยอด สุวณฺโณ วัดอ่าวบัว ดลบันดาลให้ท่านประสบแต่ความสุข ความเจริญตลอดไป                                                                                             หลานพ่อท่านยอด สุวณฺโณ
ชีวประวัติ
พระอธิการยอด สุวณฺโณ (ยอด มณีพรหม)
เจ้าอาวาสวัดอ่าวบัว ต.เกาะใหญ่ อ.ระโนด จ.สงขลา
โดย... สมนึก รัตนวิไล ส. มณีพรหม
        พระคุณผู้เกิดเกล้าพระอธิการยอด เสมือนกับมีทิพย์จักษุรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า จึงให้มงคลนามบุตรน้อยคนสุดท้องว่า ยอด เพราะพระภิกษุรูปนี้มีประวัติเป็นเลิศด้วยวัยวุฒิ เป็นพระผู้เฒ่าทรงคุณวุฒิ ภูมิธรรม ภูมิฐาน เป็นที่หนึ่ง ซึ่งจะหาพระภิกษุเปรียบเทียบได้โดยยาก ทั้งมีญาติมิตรศิษยานุศิษย์กว้างขวาง ควรจะได้จารึกชีวประวัติของท่านไว้ให้ครบถ้วน เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้ถือเป็นแบบฉบับสืบไป ทั้งจะได้เฉลิมเกียรติอันสูงส่งของท่านให้เหมาะสม แต่กระดาษพิมพ์จำกัด จะบรรยายให้ละเอียดละออไม่ได้        ขอนำมาจารึกไว้เฉพาะแต่ที่สำคัญจำเป็นดังนี้
         พระอธิการยอด สุวัณโณ เป็นบุตรนายพรหมแก้ว และ นางหอม มณีพรหม ชาตะเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2423 วันศุกร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 12 ปีมะโรง เวลาประมาณ 06.30 น. ในรัชกาลที่ 5    ณ บ้านทุ่งบัว หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
พระอธิการยอดมีพี่น้องร่วมบิดา 15 คน คือ
พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ชาตะจากนายพรหมแก้ว นางหอม 5 คน มีลำดับดังนี้
1. นายหนู มีภริยาชื่อ นางพุธแก้ว      2. นางพุธ มีสามีชื่อ นายปาน
3. นายเผิด มีภริยาชื่อ นางรอด       4. นายจันทร์แก้ว มีภริยาขื่อ นางนุ่น
5. พระอธิการยอด สุวณฺโณ องค์แห่งชีวประวัตินี้
พี่น้องต่างมารดากัน ชาตะจากนายพรหมแก้ว นางแป้น 10 คน มีลำดับดังนี้
1. นายพลับ (ไม่ปรากฎมีบุตรภริยา)     2. นายปลอด มีภริยาชื่อ นางกิ้ม
3. นายขำ มีภริยาชื่อ นางสี               4. นางนิ่ม มีสามีชื่อ นายผอม
5. นางปราง มีสามีชื่อ นายจันทร์       6. นางบัว มีสามีชื่อ นายอินทร์แก้ว
7. นางมี มีสามีชื่อ นายคงและนายขำ  8. นางแนบ มีสามีชื่อนายจันทร์แก้ว
9. นายเอี่ยม มีภริยาชื่อ นางพั่ว        10. นางนุ่ม มีสามีชื่อ นายแป้น
       ขณะเขียนชีวประวัตินี้ บรรดาพี่ชายพี่หญิงของพระอธิการยอด ได้ถึงแก่กรรมล่วงลับไปหมดแล้ว คงเหลืออยู่แต่พี่สะใภ้ 2 คนเท่านั้น คือนางพั่ว บ้านแหลมยาง ต.เกาะใหญ่ กับนางรอด บ้านศาลาหลวงล่าง ต.ท่าบอน พระอธิการยอด เป็นน้องสุดท้อง ได้มีชีวิตอยู่เห็นโลก และก็ล่วงลับลาโลกนี้ไป ล้าหลังจากพี่ๆ คนอื่นเช่นเดียวกัน ประวัติเริ่มแรกแห่งชีวิต เป็นลำดับมาจนถึงวาระสุดท้ายของท่านผู้เฒ่าองค์นี้
          ยุคนั้น นายพรหมแก้ว มณีพรหม บิดาของพ่อท่านยอดเป็นคนสำคัญของชาวเกาะใหญ่ ได้รับแต่งตั้งจากทางราชการมีหน้าที่ปกครองดูแลชาวบ้าน ตลอดจนถึงมีหน้าที่เก็บส่วยสาอากรส่งหลวง มีอำนาจหน้าที่สำคัญ   (ถ้าเปรียบปัจจุบันก็คือเป็นกำนันประจำตำบล) จึงเป็นที่เคารพรักของประชาชนทั่วไป โอกาสนี้ ยอด เด็กน้อยก็ ได้รับการถนอม อบรมกล่อมเกลาในวัยเด็กเป็นอย่างดี โตขึ้นพอจะศึกษาเล่าเรียนได้ นายพรหมแก้วและนางหอมได้นำไปฝากท่าน อาจารย์คง วัดทุ่งบัว (วัดทุ่งบัวเดิมเรียกว่า วัดม่วงทอด) อาจารย์คงได้อบรมสั่งสอนอักขระสมัยตามแบบโบราณที่นิยมในยุคนั้น เรืยนหนังสือไทยและอักขระขอม เด็กชายยอดเป็นเด็กที่ฉลาด เรียนรู้เร็วและเป็น ที่รักของท่านอาจารย์ยิ่งนัก
พ.ศ. 2438 นายยอดอายุได้ 16 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่กับอาจารย์คง ที่วัดทุ่งบัว แต่เพราะความคะนอง ในวัยหนุ่ม สามเณรยอดน้อยไม่อาจจะอยู่ในผ้ากาสาวพัตรให้ตลอดไปได้ บวชได้เพียง 3 พรรษา ก็ได้ละเพทสามเณรออกมาอยู่กับบิดา- มารดา
          อีกครั้งหนึ่ง พ.ศ. 2444 นายยอด มณีพรหม อายุได้ 22 ปี บิดา-มารดาได้จูงมือเข้าสู่พัทธสีมา วัดทุ่งบัว ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มอบถวายตัวแก่ พระอาจารย์ทองมาก เจ้าอาวาสวัดเชิงแสใต้ ขอให้บรรพชาอุปสมบท ซึ่งพระอาจารย์ทองมากก็ยินดีรับเป็นพระอุปัชฌาย์ มี พระอาจารย์คง วัดทุ่งบัว เป็นพระกรรม วาจาจารย์ พระอาจารย์ศรีนวล วัดเชิงแส เป็นพระอนุสาวนาจารย์ บรรพชาอุปสมบทให้ บวชแล้วอยู่ในสำนักของอาจารย์คง วัดทุ่งบัวตามเดิม
         พระภิกษุยอด ถืออุดมคติตามพุทธพจน์ว่า เกิดเป็นชายต้องพยายามและพากเพียร จนบรรลุผลที่ต้องการ เพราะซื่อตรงต่ออุดมคตินี้ จึงใน 2 พรรษาแรกนั่นเอง พระภิกษุยอดได้ท่องบ่นสวดมนต์ 7 ตำนาน 12 ตำนาน และพระปาฏิโมกข์ จบบริบูรณ์ สามารถสวดได้คล่องแคล่วชำนาญ จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ยิ่งนัก พรรษาที่ 3-4 เป็นลำดับ ได้ศึกษาหาความรู้ทางปริยัติจากการอบรมสั่งสอนของอาจารย์คงบ้าง จากการค้นคว้าจากคัมภีร์ต่างๆ บ้าง เพราะเวลานั้นโรงเรียนนักธรรมยังไม่มี แม้แต่โรงเรียนประชาบาล สำหรับเด็กก็ยังไม่ได้ยินชื่อกัน แต่ถึงกระนั้น ภิกษุหนุ่มองค์นี้ ก็เสมือนกับสิงห์หนุ่ม ที่กำลังกระหายเนื้อ สามารถหาความรู้ทางพระพุทธศาสนาใส่ตัว ได้อย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง และพิสดารยิ่ง
        พ.ศ. 2449 พรรษาที่ 6 ภิกษุยอดเห็นว่าการค้นคว้าหาความรู้ในสำนักเดิมนี้ พอควรแก่การปกครองตนเองได้แล้ว แต่อยากหาความรู้ให้กว้างขวางยิ่งๆ แม่น้ำไม่อิ่มด้วยน้ำฉันใด ปราชญ์ย่อมไม่อิ่มด้วยความรู้ฉันนั้น จึงตัดสินใจลาอาจารย์คง ไปอยู่ วัดโคกกินร จ.สงขลา เพื่อศึกษาบาลี ที่เรียกว่าหนังสือใหญ่ในสมัยนั้น ศึกษาอยู่    3 พรรษา มีความรู้พอแปลบาลีได้ แต่ให้เกิดโรคาพาธเบียดเบียน จึงต้องกลับมารักษาตัวอยู่วัดทุ่งบัว เมื่อหายปกติแล้ว ตั้งใจจะไปศึกษาต่ออีก แต่ก็มีอุปสรรคบางอย่างจึงไม่ได้กลับไปเล่าเรียนตามเดิม ในระหว่างนี้ได้ถือโอกาสบูรณะ วัดตก และ วัดสูง ซึ่งในขณะนั้น พูดได้ว่าวัดทั้ง 2 นี้ เกือบจะหมดชื่อเสียงไปแล้ว ให้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมา
บ้านทุ่งบัวเดิมมี 3 วัด คือ วัดตก วัดสูง และวัดม่วงทอด
วัดตกตั้งอยู่ในที่ราบต่ำ (ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านทุ่งบัว) เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2323 ใน รัชกาลที่ 1 โดยมี นายชาย ปู่ของภิกษุยอดเอง อุทิศที่สวน 1 แปลง จัดตั้งเป็นวัดขึ้น ได้ผูกพัทธสีมา มีพระสงฆ์อยู่ประจำตลอดมา แต่เมื่อวัดทุ่งบัวหรือวัดม่วงทอด ซึ่งอยู่ทางใต้ของวัดตกได้เจริญรุ่งเรืองขึ้น วัดตกก็กลับสภาพเป็นวัดรกร้างตกอับดังชื่อของวัดไป ส่วน วัดสูงนั้นเป็นวัดหนึ่งตั้งอยู่บนไหล่เขา สูงชันจากพื้นบ้านประมาณ 90 เมตร ห่างจากวัดทุ่งบัวไปทางทิศเหนือ 14 เส้น เป็นวัดโบราณมีอายุหลายร้อยปี สมัยเดียวกับวัดพะโคะ จะทิ้งพระ เป็นวัดที่มีประวัติมหัศจรรย์พิสดาร เป็นที่สถิตของท่านผู้ทรงคุณธรรมพิเศษ ท่านผู้นั้นประชาชนได้ถวายสามัญนามว่า สมเด็จเจ้า
พระยอดได้เห็นความสำคัญ แห่งโบราณวัตถุโบราณสถาน เหล่านี้ว่า ควรบูรณะรักษาไว้เพื่อจะได้เป็นอนุสรณ์ เป็น ที่สักการะของมหาชนต่อไป จึงใน พ.ศ. 2452 ได้ลงมือบูรณะวัดทั้ง 2 นี้ ให้มีสภาพดีขึ้น
วัดตก ได้ให้ชาวบ้านช่วยแผ้วถาง ทำลานวัดลงหลักปักเขตต์ สร้างกุฏิขึ้นไว้ให้เพียงพอสำหรับพระสงฆ์ 5 รูป จะพำนักอยู่ได้ บูรณะโรงอุโบสถ ซึ่งถูกต้นไม้ปกคลุมให้ดีให้เหมาะสม ที่พุทธศาสนิกชนจะได้ใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลต่อไป ครั้นแล้ว ได้หันไปบูรณะวัดสูงเป็นอันดับ 2
วัดสูงเหมาะสำหรับเป็นนิวาสสถาน ของบุคคลพิเศษดังกล่าวแล้ว แม้จะปลูกสร้างกุฏิขึ้น ก็ไม่มีภิกษุองค์ใดสมัครใจไต่เขาขึ้นไปอยู่ แต่ควรบูรณะไว้ จึงได้สร้างวิหารขึ้น 1 หลัง ก่อพระพุทธรูปหน้าตัก 3 ศอก ขึ้นไว้ในวิหารนี้ 3 องค์ ก่อพระเจดีย์ไว้หน้าวิหารนี้ 1 องค์ พระเจดีย์นี้ก่อครอบเจดีย์องค์เล็กของเก่า นัยว่า เจดีย์เก่านี้เป็นสธูปบรรจุอัฐิของ สมเด็จเจ้า เจ้าอาวาสวัดนี้ และได้จัดแผ้วถางบริเวณวัด ทำลานวัด ลงหลักปักเขตต์วัดไว้เป็นสำคัญ
พ.ศ. 2459 พรรษาที่ 15 ท่านอาจารย์คง มรณภาพลง พระยอดได้เป็นเจ้าอาวาส วัดทุ่งบัว แทน ระยะนี้ท่านได้บูรณะซ่อมแซม กุฏิ-วิหาร วัดทุ่งบัว หลายหลัง จนถึง
พ.ศ. 2463 พรรษาที่ 19 ชาวบ้านโรง อ.ระโนด ได้มานิมนต์ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโรง ท่านตริตรองเห็นว่าวัดทุ่งบัว มีสภาพมั่นคงดีแล้ว แต่วัดโรงแม้ตั้งมานานแล้ว แต่มีสภาพเหมือนวัดตั้งใหม่ ยังขาดถาวรวัตถุหลายอย่าง และ ที่นั่นยังมีญาติผู้เฒ่าอยู่หลายคน ควรตอบแทนบุญคุณด้วย ไปอยู่วัดโรงตามที่นิมนต์ จึงได้รับนิมนต์ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโรง ส่วนวัดทุ่งบัวได้มอบหมายให้ พระเนียม พระจร พระปลอด และพระหนู เป็นเจ้าอาวาสปกครอง     วัดทุ่งบัวจนบัดนี้
เมื่ออยู่วัดโรง ได้จัดสร้างสรรวัดโรงทางด้านวัตถุ และน้ำใจ ทางวัตถุได้สร้างกุฏิ วิหาร และโรงอุโบสถ หอฉัน และอื่นๆ จนเรียบร้อย ทางจิตใจ ได้พร่ำสอนแนะนำให้พี่น้องชาวโรง เกิดศรัทธาเคารพต่อโอวาทแห่งพระพุทธองค์ยิ่งขึ้น แนะนำให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวเป็นอย่างดี ยุคนั้นขึ้นชื่อว่าสามัคคีแล้ว ชาวตำบลโรงควรได้รับการชม เชยเป็นที่ 1 จะหาบ้านอื่นใดกลมเกลียวกันดีอย่างชาวโรงหาได้ยากเต็มที ทั้งนี้เพราะพระอธิการยอดองค์นี้เอง  เป็นแม่เหล็ก ดึงดูดกระชับเกลียวสัมพันธ์กันไว้
วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2482 พรรษาที่ 37 นางสั้น ณ สงขลา บุตรีพระยาวิเชียรฯ ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ภรรยาหมื่นรักษ์ฯ ได้ศรัทธาถวายสวนมะพร้าว จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 384,000 ตารางเมตร หรือ 240 ไร่ มีมะพร้าวได้ผลแล้วเต็มเนื้อที่ ตั้งอยู่ระหว่างบ้านแหลมยาง หมู่ 2 กับบ้านไร่ หมู่ 3 ต.เกาะใหญ่ อ.ระโนด ให้เป็น ของสงฆ์ แต่ก่อนถวายได้แจ้งเจตน์จำนงค์ ขอนิมนต์พระอธิการยอด ไปเป็นผู้จัดการตั้งวัดและเป็นเจ้าอาวาส ในสวนนี้ ถ้าแม้นไม่รับนิมนต์ เจตนาที่จะถวายสวนมะพร้าวครั้งนี้ จะขอระงับไว้ก่อน ทั้งนี้เพราะนางสั้นได้ศรัทธาเลื่อมใส ต่อปฏิปทาของพระอธิการยอดองค์นี้ยิ่งนัก พระอธิการยอดจึงพิจรณาเห็นว่า บัดนี้วัดโรงก็เป็นวัดมีมาตรฐานมั่นคงดีแล้ว ส่วนบ้านแหลมยาง-บ้านไร่-บ้านแหลมหาดคูรานั้น เวลานี้มีประชาชนอยู่กันมากขึ้น การอาชีพก็มีท่าจะก้าวหน้า แต่ยังไม่มีวัดที่จะให้การอบรมส่งเสริมทางจิตใจและรำพึงต่อไปว่า ที่บ้านแหลมยางนี้ มีพี่ชายผู้มีอุปการะคุณมากอยู่ คือ นายเอี่ยม มณีพรหม ท่านเองยังไม่ได้ตอบแทนบุญคุณอย่างใด ถ้ารับนิมนต์ นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนมากแล้ว จะได้หาโอกาสเทศนาตอบแทนบุญคุณพี่ชายผู้นี้ด้วย เป็นการสม ควรแล้ว จึงตกลงใจรับนิมนต์ จัดตั้งวัดขึ้นที่สวนมะพร้าว ของนางสั้น ณ สงขลา เรียกว่า วัดอ่าวบัว และยอมรับเป็นเจ้าอาวาสตามความประสงค์ของทายิกาผู้ศรัทธานี้ด้วย สวนมะพร้าวอันกว้างขวางของ นางสั้น ก็ได้จำแลงแปลงรูป เป็นวัดเข้าร่วมสารบรรณภาคี วัดแห่งประเทศไทยวัดหนึ่งตั้งแต่นั้นมา
ส่วนวัดโรงได้มอบหมายให้ พระอธิการขาว ซึ่งเป็นศิษย์ที่ไว้วางใจได้ และได้รับการศึกษาอบรมมาเป็นอย่างดีแล้ว ให้เป็นเจ้าอาวาสต่อมาจนถึงบัดนี้
ในปี พ.ศ. 2482 นั่นเอง วัดอ่าวบัวก็เริ่มขยายตัว มีกุฏิ วิหาร 1-2-3 และศาลาการเปรียญ และศาสนวัตถุอื่น ๆ อีกเกิดขึ้นเป็นลำดับ ในเวลาอันรวดเร็ว ต่อมา ได้จัดสร้างพระอุโบสถ และขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้ผูกพัทธสีมาใน วัดนี้ เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2492 วัดอ่าวบัวหรือสวนนางสั้น ก็เกิดมีประสิทธิภาพเป็นวัดโดยสมบูรณ์ เป็นที่รับรองพุทธวจนะ เป็นสถานบำเพ็ญบุญ เป็นขวัญใจของชาวเกาะใหญ่แห่งหนึ่ง
ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม แม้เราท่านผู้เขียนผู้อ่านเรื่องนี้อยู่ และแม้พระอธิการยอด ซึ่งเป็นที่รักเคารพนับถือของประชาชนชั้น พ่อ หรือเพียงใดก็ตาม ก็ต้องตกอยู่ในอำนาจเด็ดขาดของมัจจุราชทั้งสิ้น เว้นแต่บอกกันไม่ได้ว่า ใครจะไปก่อน ไปหลัง เร็วหรือช้าเท่านั้น
ในระยะเวลาที่อยู่ที่วัดอ่าวบัวนี้ สังขารก็ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นลำดับ วาระสุดท้ายเกิดโรคลม เพราะความชราเป็นเหตุเข้าครอบงำ บรรดาศิษย์และลูกหลาน ได้เอาใจใส่พยาบาลกันเป็นอย่างดีที่สุด แต่ถึงกระนั้น
วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2497 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย เวลา 14.15 น. เป็นนาทีสุดท้าย นาทีแห่งความพ่ายแพ้ต่อพระยามัจจุราช ผู้มีอำนาจเหนือ
ดังประทีปดวงใหญ่ มีรัศมีสว่างไสวแผ่ไปทั่วทิศานุทิศ ขณะนี้ดวงประทีปดวงนี้กำลังหรี่แสงลง-หรี่ลงทีละนิด รอนาทีสุดท้ายเพียงนิดเดียว
ท่ามกลางกระแสเสียงพระพุทธมนต์ ที่พระสงฆ์ 12 รูป สวดเจริญสติอยู่นั้น พ่อท่านยอดในเรือนร่างอันชรานอนอยู่บนเตียง เสียงที่พูดก็แหบแห้ง แต่ดวงตายังแจ่มใสขณะนั้น ท่านแสดงอาการจะลุกขึ้น จึงได้ช่วยประคองให้นั่งท่านขอดอกไม้ธูปเทียนมาถือ ปากก็ขมุบขมิบบูชาพระรัตนตรัย ยกมือประนมคารวะพระสงฆ์เป็นการอำลา ครั้งสุดท้าย แล้วนั่งขัดสมาธิ ตั้งตัวตรง หลับตา สงบนิ่ง เหมือนยามปกติ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก ตามหลักวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งท่านอบรมมาจนเคยชิน ประมาณครึ่งชั่วธูป ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ซึ่งเคยทำงานมาเป็นเวลา 75 ปี     ก็หยุดทำงานไม่เข้า-ออกตามปกติ เป็นที่เข้าใจกันว่า วิญญาณอันบริสุทธิ์โสภณ ดุจประดับไว้ด้วยดอกไม้อันงดงาม ตลอดเวลาอันยาวนานของ
พ่อท่านยอด สุวัณโณ บุตรชายสุดสวาทของปู่พรหมแก้ว และย่าหอม ตระกูลมณีพรหม เจ้าพ่อแห่งเกาะใหญ่ ขวัญใจของชาวโรง เลื่อนลอยออกจากร่าง เดินทางไปสู่สุคติสัมปรายภพหน้าแล้ว ดังดวงประทีปดวงใหญ่ ดับพรึ่บลงในท่ามกลางแห่งกระแสเสียง แห่งพระพุทธมนต์ และเสียงร้องไห้คร่ำครวญ อาลัยอาวรณ์ ของบรรดาศิษยานุศิษย์อย่างน่าสลดใจ  แม้วิญญาณของพ่อท่านได้สลัดออกจากร่างไปถือปฏิสนธิใหม่แล้วก็ตาม แต่ความดีอันหาค่ามิได้ของท่าน   ยังปรากฎเด่นอยู่ในโลกนี้ไม่มีวันที่จะลบเลือนไปได้ ดังสุนทรภาษิตว่า อันดีชั่วตัวตายเมื่อภายหลัง ชื่อก็ยังคงอยู่ไม่  รู้หาย ถ้าทำดีดีประทับอยู่กับกาย ถึงตัวตายชื่อยังอยู่คู่ฟ้าดิน ดังนี้
แต่ใครเล่า? ที่จะพรรณาความดีของท่านให้สิ้นสุดลงได้ ไม่มี ! ตลอดชีวิต ท่านทำแต่ความดี จะหยิบยกเอาปฏิปทาส่วนใดส่วนหนึ่ง อันควรเป็นไฝฝ้าด่างพร้อย แม้แต่น้อยมากล่าวกัน หาได้ยากเต็มที แต่หากจะกล่าวสรุปตามที่เห็น ได้ชัดๆ ได้แก่ การศึกษา การก่อสร้าง การเคร่งครัดต่อวินัย วัตรธรรมประจำตัว คือการให้ปัน, เจรจาอ่อนหวาน, ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น, และการไม่ถือตัว บรรดาความดีทั้งหลายนี้ ขอนำมากล่าวสักอย่างหนึ่ง คือ
การให้ปัน
ไม่เลือกหน้าว่าผู้มาหาท่านนั้น เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะยากจนหรือมั่งมี คำแรกท่านต้องสั่งให้หาอาหารมาให้รับประทานเสียก่อน อย่างไม่มีอะไรเสียเลยก็มะพร้าวอ่อน และขยั้นขยอให้รับประทานให้ได้ทุกคนไป แม้เวลาป่วยหนัก ก็ยังปฏิบัติอยู่อย่างนี้ นอกจากนี้ยังหาโอกาสเป็นครั้งคราว บริจาคทานเป็นการใหญ่ แต่การให้ปันดังกล่าวนี้ไม่น่าสนใจนัก เพราะป็นที่รู้กันทั่วๆ ไปแล้วว่า พ่อท่านเป็นเจ้าแห่งสันโดษ ไม่เคยสะสมทรัพย์ที่ได้จากการบริจาค ทำบุญของญาติโยมมาเป็นสมบัติส่วนตัวเลย ทั้งยังได้เฉลี่ยประโยชน์สุขส่วนตัวไปบำรุงองค์การของรัฐบาล และช่วยเหลือกิจการของเอกชนต่างๆ หลายแห่ง โดยมิได้หวังอามิสอันใดตอบแทน
และยิ่งกว่านั้นอีก ! ท่านยังได้เฉลี่ยประโยชน์ส่วนตัว ทูลเกล้าฯ ถวายถึงองค์พระมหากษัตริย์ ผู้เป็นองค์พระศาสนุปถัมภ์ และพระประมุขของชาติไทย โดยมิได้หวังพระราชทานตอบแทน และเกียรติศักดิ์อันใดแม้แต่น้อยเช่นเดียวกัน ผู้อ่านอาจเข้าใจว่าพ่อท่านเป็นคนร่ำรวย หรือมีโครงการอะไรใหญ่โตอยู่หลังฉากสักอย่างหนึ่งก็ได้ เปล่า หามิได้ ทรัพย์สินเหล่านี้ล้วนมีผู้อุทิศให้ และแล้วท่านก็แจกจ่ายไปในทันที วันมรณภาพนั้น มีเงินเหลืออยู่ 52.50 บาทเท่านั้น นี่แหละทรัพย์สินวัตถุสมบัติส่วนตัว อันเป็นก้อนใหญ่ที่สุดที่คงเหลืออยู่เพียงเท่านี้ ท่านผู้อ่านที่เคารพหากยังไม่คุ้นเคยกับพ่อท่านมาก่อน ก็หวังว่าคงวินิจฉัยอัธยาศรัยอันดีงามของพ่อท่านได้ดีแล้ว
ทำให้ไว้ชื่อ อยู่ให้ลือชั่วชาติ จงรีบทำความดี อีกไม่กี่วันเราจะตาย
นี่เป็นอุดมคติที่พ่อท่านยอด พูดเตือนศิษย์อยู่เสมอ !
: คัดลอกมาจากหนังสือ คติเตือนใจ
งานฌาปนกิจศพ พระอธิการยอด สุวัณโณ (ยอด มณีพรหม)
ที่วัดทุ่งบัว ต.เกาะใหญ่ อ.ระโนด จ.สงขลา
เมื่อวันที่ 3-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 มารำลึกถึง :
ประวัติวัดอ่าวบัว
วัดอ่าวบัว ตั้งอยู่เลขที่ 114 บ้านแหลมยาง หมู่ 2 ตำบลเกาะใหญ่ กิ่งอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 190 ไร่ (นส. 3 เลขที่174)
อณาเขต ทิศเหนือ ยาว 15 เส้น ติดกับที่ดินของ นายยิติ้น จิระโร และราษฎร ทิศใต้ ยาว 10 เส้น 15 วา ติดกับที่ดินของ นายลั่น แก้วไหม และราษฎร ทิศตะวันออก ยาว 15 เส้น 7 วา ติดกับที่ดินของ นายผัน มะลิวัลย์ ทิศตะวันตก ยาว 14 เส้น 2 วา ติดกับที่ดินของ นายโย นายเปีย และนายอิ่ม ที่ดินตั้งวัดเป็นเนินเขา อยู่ตรงอ่าวของทะเลสาบสงขลา ทางทิศใต้ของวัดอาคารเสนาสนะต่างๆ มี
- อุโบสถ กว้าง 12 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2492 โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
- ศาลาการเปรียญ กว้าง 13 เมตร ยาว 35 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2492 โครงสร้างไม้เนื้อแข็ง
- หอสวดมนต์ กว้าง 10 เมตร ยาว 11 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2513 โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฏิสงฆ์จำนวน 3 หลัง โครงสร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้
ปูชนียวัตถุมี รูปเหมือนพ่อท่านพระอธิการยอด สุวัณโณ อดีตเจ้าอาวาส
วัดอ่าวบัว สร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2482 โดยมี นางสั้น ณ สงขลา (บุตรีของพระยาวิเชียร   ณ สงขลา เจ้าเมืองสงขลา) ได้บริจาคที่ดินให้สร้างเป็นวัด ที่ได้นามวัดอย่างนั้นเพราะที่ตั้งวัดอยู่ตรงอ่าวของทะเลสาบสงขลา ที่อ่าวมีดอกบัวหลวงมากมาย ชาวบ้านเรียก อ่าวบัว
ระยะแรกมี พระอธิการยอด สุวัณโณ เป็นหัวหน้าพร้อมด้วย พระคงและพระบุญคงเป็นกำลังสำคัญในการสร้างวัด
การศึกษา ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 มีนักเรียนธรรมกว่า 40 รูป นอกจากนี้มีโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งทางวัดร่วมกับชาวบ้านจัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2510
วัดอ่าวบัว ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2490 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ได้ผูกพัทธสีมา วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 เจ้าอาวาสมี 3 รูปคือ
รูปที่ 1 พระอธิการยอด สุวัณโณ ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 - 2497
รูปที่ 2 พระครูแดง ฉันทกโร ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 - 2544
รูปที่ 3 พระมหาวิชาญ ปภัสสโร ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน
วัดอ่าวบัวมีพระภิกษุจำพรรษา 6 รูป (พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน)
วัตถุมงคล
1. รูปถ่ายขาว-ดำ อัดกระจกขนาด 1 นิ้ว ออกก่อนเหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ. 2497 แจกสมัยพ่อท่าน และในงานฌาปนกิจ
2. เหรียญเสมารุ่นแรก สร้างสมัยพ่อท่าน (ต้นปี 2497) แต่แจกในงานฌาปนกิจ ปี พ.ศ. 2498 ด้านหน้า รูปทรงเหรียญเสมา พ่อท่านยอดนั่งสมาธิเต็มองค์ เป็นวัตถุมงคลเหรียญโลหะ รุ่นเดียวที่ นายบุ้นฮ้วน แซ่โซว สร้างจำนวน 1,000 องค์ เนื้อโลหะทองแดงชุบทอง เพียงเนื้อเดียว ปลุกเสกภายในอุโบสถของวัดอ่าวบัว แจกงานฌาปนกิจศพพ่อท่านยอด ด้านหลังเหรียญพ่อท่านยอด รุ่นแรก
- ความหมายของพระยันต์ที่ลงหลังเหรียญพ่อท่านยอดรอบนอก ลงด้วย อะ (ใช้ป้องกันภัย), จะ พะ กะ สะ (หัวใจพระกรณี), นะ มะ พะ ทะ (ธาตุทั้งสี่), มะ อะ อุ (แก้วสามดวง), ฦ ฦา ฦ ฦา (หัวใจพระฤาษี), ตรงกลางลงยันต์ นะ โม พุท  ธา ยะ (พระเจ้าห้าพระองค์), ด้านล่าง-ด้านบนลงยันต์ นะทรงแผ่นดิน พระยันต์ทั้งหมดดีทางเมตตามหานิยม คุ้มครองป้องกันภัยดีนักแล
3. เหรียญครึ่งองค์พ่อท่านยอด ด้านหลังอักขระลงเลขยันต์ เหมือนเหรียญรุ่นแรก แต่ระบุ พ.ศ. 2529
4. เหรียญเสมา (ย้อนยุค) รุ่นแรก ออกปี พ.ศ. 2537 ด้านหน้า พิมพ์ทรงเหมือนเหรียญรุ่นแรกทุกประการ ด้านหลัง มีรูปยันต์เหมือนเหรียญรุ่นแรก แตกต่างที่มีการระบุข้อความ มูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ้ง หาดใหญ่ 2537 มูลนิธิฯ (เนื้อเงิน 400 เหรียญ เนื้อทองแดงรมดำ 10,000 เหรียญ) ทำพิธีพุทธภิเษกใน มูลนิธิฯ
5. พระบูชาพ่อท่านยอด ขนาด 1.5 นิ้ว สร้างโดย พระครูปทุม วุฒิกร (พ่อท่านแดง ฉันทกโร) ออกวัดทุ่งบัว            สร้างประมาณปี พ.ศ. 2549
6. รูปถ่ายพ่อท่านยอด สีซีเปีย ขนาด 8 X 12 นิ้ว รูปถ่ายพ่อท่านยอด สีซีเปีย ขนาด 3.5 X 5 นิ้ว รูปถ่ายพ่อท่านยอด สีซีเปีย ขนาด 1.5 X 2 นิ้ว รูปถ่ายพ่อท่านยอด สีขาว-ดำ ขนาด 1 X 1.5 นิ้ว ออกปี พ.ศ. 2550 โดยครอบครัว ยงเกียรติไพบูลย์ แจกในงานกฐิน ปี 2550
7. แผ่นปั๊มทองเหลืองพ่อท่านยอด ขนาด 2.5 X 3.5 นิ้ว สร้างปี พ.ศ. 2552 จำนวน 5,000 แผ่น
8. รูปเหมือนพ่อท่านยอด ขนาด 1.8 ซม. มี 3 เนื้อ (เงิน 120 องค์, ชุบทอง 240 องค์, ทองแดง 3,000 องค์) สร้างปี พ.ศ. 2553 ทำพิธีพุทธาภิเษกในอุโบสถ วัดอ่าวบัว จ.สงขลา วันที่ 30 มี.ค. 2553
มูลเหตุการสร้างวัตถุมงคลและต้นเหตุการสร้าง มูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง หาดใหญ่
เมื่อประมาณปี พศ. 2496 มีคหบดีท่านหนึ่ง ซึ่งมีกิจการค้าพอสมควรในยุคนั้น เปิดร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ตะเกียงน้ำมันต่างๆ เช่น ตะเกียงเจ้าพายุ ตะเกียงแสงจันทร์ เตาน้ำมัน ทั้งจำหน่ายและรับซ่อม ยังมีจักรเย็บผ้า อุปกรณ์กีฬาต่างๆ ใช้ชื่อร้านว่า    มุยฮง ตั้งอยู่เลขที่ 43 ถนนนิพัทธุ์อุทิศ1 .หาดใหญ่ .สงขลา และสาขา ชื่อร้าน บุญแสงจันทร์ ซึ่งอยู่ในระแวกใกล้เคียงกัน โดยชาวบ้านทั่วไปมักเรียกท่านว่า
เถ้าแก่มุยฮง (นายบุญฮ่วน แซ่โซว ยงเกียรติไพบูลย์)
เถ้าแก่มุยฮง นอกเหนือจากทำการค้าแล้วในยามว่างยังชอบเล่นดนตรีจีน โดยเครื่องดนตรีที่ถนัดคือ ขลุ่ย มีการรวมวงเล่นกันเป็นประจำที่สมาคมแต้จิ๋ว หาดใหญ่ ซึ่งท่านก็เป็นกรรมการของสมาคมในยุคแรก ด้วย เถ้าแก่มุยฮงจึงมีเพื่อนทั้งพ่อค้าและนักดนตรีมาก (ในยุคนั้นดนตรีจีนแต้จิ๋วมีความเฟื่องฟูมาก แทบทุกจังหวัดจะมีคณะดนตรีจีนอย่างนี้ วงใหญ่บ้างเล็กบ้าง ในจังหวัดสงขลามีถึง 3-4 คณะ เฉพาะในตัวเมืองหาดใหญ่มีนักดนตรีจีนถึงหลายสิบคน อีกทั้งในสมัยนั้นยังไม่มีสถานบันเทิงนอกจากโรงภาพยนตร์ เมื่อว่างจากหน้าที่การงาน ทุกคนก็จะรวมวงกันเล่นดนตรี และ กลุ่มนักดนตรีกลุ่มนี้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง มูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง หาดใหญ่  ในกาลต่อมา)  วันหนึ่งเพื่อนเถ้าแก่สองคนมาคุยให้เถ้าแก่ฟังว่า ได้ข่าวว่าที่วัดอ่าวบัว .เกาะใหญ่ .ระโนด (ปัจจุบันเป็น  .กระแสสินธุ์) .สงขลา มีพระสงฆ์องค์หนึ่งชื่อว่า พ่อท่านยอด สุวัณโณ เป็นพระเก่งทางวิปัสนากัมมัฏฐาน  รู้อดีตและอนาคต ซึ่งน่าจะให้หวยแม่น ตอนแรกๆ เถ้าแก่ฟังแล้วก็ยังเฉยๆ (เถ้าแก่เป็นคนไม่เชื่อเรื่องพระเรื่อง เจ้าอยู่แล้ว ในบ้านไม่มีหิ้งพระหิ้งเจ้าเลย ขนาดว่าภรรยาท่านจะไปไหว้พระไหว้เจ้านอกบ้าน ยังต้องแอบไปโดยไม่ ให้เถ้าแก่รู้ เพราะถ้ารู้ ก็จะบ่นและว่าทุกครั้ง) เพื่อนยังบอกว่า ถ้าไม่เชื่อก็น่าจะไปลองดูก่อน เมื่อถูกเพื่อนชวนอยู่หลายครั้ง จึงเกิดความอยากรู้อยากเห็นขึ้นมา ก็เลยนัดเพื่อนทั้งสองคนว่า ให้ใกล้วันหวยออก แล้วจะไปหาพ่อท่านยอดด้วยกัน
ในสมัยก่อนนั้น การจะไปวัดอ่าวบัวไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากยังไม่มีทางรถยนต์ผ่านเลย ไปได้ทางเดียวคือ ทางเรือเท่านั้น ต้องนั่งเรือยนต์ จากท่าเรือตลาดสงขลา เรือออกจากท่าประมาณ 19.00 น. ถึงหน้าวัดอ่าวบัวประมาณ 6.00-7.00 น. ตอนเช้า ต้องนอนในเรือทั้งคืน ในช่วงนั้นเถ้าแก่ยังอยู่ในวัยหนุ่มใหญ่ (อายุ 42-43 ปี) ยัง แข็งแรงสมบุกสมบันขึ้นเขาลงห้วยได้สบาย
เมื่อนัดเพื่อนมาลงเรือเรียบร้อยแล้ว ขณะอยู่บนเรือ เจอชาวบ้านที่นับถือพ่อท่านยอด บอกว่า หากมีใครถามว่าไปไหนต้องบอกว่าไปหาพ่อท่านยอดวัดอ่าวบัว ก็จะปลอดภัย เพราะสมัยนั้นโจรสลัดในทะเลสาปสงขลามีมาก แต่ทุกคนนับถือพ่อท่านยอด วัดอ่าวบัว ถ้าเราบอกว่าไปหาพ่อท่านยอด โจรก็จะไม่กล้าทำอะไร จึงแสดงว่าในสมัยนั้นทั้งจังหวัดสงขลา ต่างก็รู้จักและนับถือพ่อท่านยอดวัดอ่าวบัว
เช้าแล้วเรือก็ถึงหน้าวัด เรือเข้าฝั่งไม่ได้เพราะน้ำตื้นเกินไป แต่มีชาวบ้านแจวเรือออกมารับถึงกลางน้ำ เมื่อลงเรือแจวแล้วก็ถามคนแจวเรือว่า ทำไมถึงได้มารับ คนแจวเรือบอกว่า พ่อท่านสั่งให้มารับตั้งแต่เมื่อคืนนี้ ทุกคนรวมทั้งเถ้าแก่ก็เริ่มแปลกใจ และเริ่มสงสัยว่าพ่อท่านรู้ได้อย่างไร
เมื่อขึ้นฝั่งชาวบ้านก็มาต้อนรับอย่างอบอุ่นและกันเอง ทั้งน้ำท่าและอาหาร ชาวบ้านบอกว่าพ่อท่าน สั่งให้ต้อนรับอย่างดี เมื่อรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านก็พาเข้าวัดเพื่อพบพ่อท่านยอด ที่กุฏิ เพื่อจะได้กราบพ่อท่านตามที่ท่านสั่งไว้ กุฏิของพ่อท่านเป็นกุฏิไม้เล็กๆ เรียบๆ ยกพื้น มีห้องนอนสองข้างๆ ละ 1 ห้อง ตรงกลางกุฏิเป็นโต๊ะหมู่ มีพระพุทธรูปกระถางธูปแจกันดอกไม้และเชิงเทียน เป็นห้องรับแขกและศิษย์ พ่อท่านนั่งรออยู่ตรงกลาง กุฏิ เมื่อทุกคนกราบเรียบร้อยแล้ว พ่อท่านก็ให้พรทุกคน
และแล้วทันทีที่พ่อท่านเห็นหน้าเถ้าแก่ ท่านถึงกับน้ำตาคลอพูดว่า "ฉันรอมานานแล้ว เพิ่งจะได้พบ นี่ฉันก็เหลือเวลาไม่มาก แต่มีเรื่องที่จะคุยกับเถ้าแก่มาก ขอให้มาหาฉันอีก ฉันจะบอกให้รู้" ส่วนตัวเถ้าแก่เองก็แปลกใจในคำพูดของพ่อท่าน และยังสงสัยเรื่องคนแจวเรือและชาวบ้านที่มาต้อนรับ เมื่อนึกถึงคำพูดของเพื่อนๆ ที่ว่า พ่อท่านเก่งเรื่องวิปัสสนากัมมัฏฐาน จึงอยากจะลองวิชาของพ่อท่าน ก็ออกปากขอหวยกับพ่อท่าน แรกๆ พ่อท่านก็ไม่ให้บอกว่า การพนันเป็นอบายมุข ถึงว่าฉันจะให้ ก็ไม่มีใครแทงถูก แม้พ่อท่านจะพูดอย่างไร เถ้าแก่และเพื่อนๆ ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะขอเลขให้ได้ บอกกับพ่อท่านว่าไหนๆ ก็มาแล้วไม่ถูกก็เอา เมื่อพ่อท่านทนอ้อนวอนไม่ได้ จึงเขียนเลขให้(สมมุติว่าเป็นเลข 123) แล้วท่านก็ใส่ซอง ปิดซองเรียบร้อยโดยไม่มีใครเห็นเลขข้างใน แล้วสั่งว่าให้เปิดดูที่บ้านในวันหวยออก และเมื่อทุกคนอยู่ฟังธรรมะของพ่อท่านเป็นเวลาพอสมควร จึงกราบลาพ่อท่านยอด ก่อนออกจากวัด พ่อท่านยังกำชับให้เถ้าแก่มาหาท่าน เพราะมีเรื่องที่จะต้องพูดคุยด้วยมากมาย เถ้าแก่ก็รับปากว่าจะมากราบพ่อท่านอีก
ระหว่างนั่งเรือกลับ ทุกคนที่มาด้วยกัน ต่างใจร้อนอยากดูเลขที่พ่อท่านให้ เพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้นว่า ถ้ามันจะถูก ยังไงก็ต้องถูก แต่เมื่อแกะซองออกมาดู ทุกคนก็ร้องยี้ เพราะเลข 123 เพิ่งออกไปเมื่องวดที่แล้วนี้เอง เมื่อเป็นเช่นนี้เถ้าแก่และเพื่อนๆ ก็คิดว่าพ่อท่านคงจะล้อเล่น เพราะพ่อท่านพูดว่า ถึงให้ก็แทงไม่ถูก จึงเปลี่ยนไปตีเลขจากคำพูดและกิริยาท่าทางของพ่อท่านแทน โดยต่างคนต่างตีเลขไปคนละทิศละทาง ไม่สนใจเลขที่พ่อท่านเขียนให้เลย เมื่อกลับถึงหาดใหญ่ก็แยกย้ายกันกลับบ้าน โดยไม่มีใครพูดถึงเลขที่พ่อท่านเขียนให้
ในวันหวยออก ทุกคนยังทำกิจการค้ากันตามปกติ แต่เมื่อถึงเวลาของหวยออก วิทยุประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 เลขสามตัวหลังเป็น 123 เท่านั้น กิจกรรมของทุกคนก็หยุดลงทันที และมารวมกันอีกครั้ง เพื่อพูดถึงเรื่องของพ่อท่านยอด เถ้าแก่มุยฮงถึงกับอุทานออกมาว่า ในโลกนี้มีเรื่องเช่นนี้จริงหรือ จากที่เคยเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง กลายเป็นเชื่อ 100% พูดขึ้นว่า มิน่าเล่า ถึงรู้ว่าเราจะไปกราบท่านในวันนั้น การพูดคุยสรุปลงว่า วันพรุ่งนี้จะไปกราบพ่อท่านยอดกันอีก
เมื่อมากราบพ่อท่านยอดที่วัดอ่าวบัว คราวนี้ ไม่ได้พูดถึงหวยอีกเลย เถ้าแก่ได้ถามถึงความเป็นมาเป็นไปที่พ่อท่านจะพูดคุยด้วย พ่อท่านจึงหลับตา นั่งนิ่งสักพักแล้วก็เริ่มเล่าให้ฟังว่า เมื่อชาติที่แล้ว พ่อท่านกับเถ้าแก่เป็นพี่น้องกัน ได้ติดตามพระอาจารย์ซึ่งเป็นพระเถระรูปหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ประสบภัยต่างๆ รวมทั้งเก็บศพที่ไม่มีญาติหรือยากจน สำหรับตัวพ่อท่านเอง ได้สร้างวัด บูรณะวัดต่างๆ แล้ว แต่ยังไม่มีวัดที่ช่วยเหลือคนเหมือนพระอาจารย์เลย อยากให้เถ้าแก่ได้สร้างวัด เป็นวัดที่ช่วยเหลือผู้คนได้ซัก 2-3 วัด (สมัยนั้นภาคใต้ยังไม่มีมูลนิธิหรือสมาคมสงเคราะห์ใดๆ เลย พ่อท่านพูดว่า วัดที่ช่วยเหลือผู้คนได้ก็คือมูลนิธิแบบปอเต๊กตึ๊งที่กรุงเทพนั่นแหละ) ยังบอกกับเถ้าแก่ว่า ต่อไปธุรกิจการค้าจะไม่รุ่งเรือง ควรที่จะสร้างบุญกุศลไว้ ช่วยเหลือผู้คนเหมือนพระอาจารย์เมื่อชาติที่แล้ว เมื่อเถ้าแก่ได้ฟังพ่อท่านพูด ในจิตใจมีความเชื่อและศรัทธา แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่า จะเริ่มต้นการสร้างวัดที่ช่วยเหลือผู้คนได้อย่างไร พ่อท่านจึงบอกกับเถ้าแก่ว่า ไม่ต้องร้อนใจขอให้มีความตั้งใจและศรัทธา  เมื่อถึงเวลา ก็จะประสบความสำเร็จเอง จากการมากราบพ่อท่านครั้งนี้ ทำให้เถ้าแก่เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาและตัวพ่อท่านยอดมาก จึงเริ่มมีหิ้งพระหิ้งแรกที่ตั้งขึ้นในบ้าน จุดธูปบูชาทุกเช้าค่ำเป็นประจำ พ่อท่านเคยบอกคาถาให้เถ้าแก่บทหนึ่งคือ
ให้ตั้ง นะโม 3 จบ แล้วสวด
พุทธัง อิ ติ อิ วิ
ธัมมัง อิ ติ อิ วิ
สังฆัง อิ ติ อิ วิ
พ่อท่านบอกว่าสวดเป็นประจำ จะได้มีความสุขความเจริญก้าวหน้า และปลอดจากภยันตรายทั้งปวง
(มีข้อน่าสังเกตว่า เถ้าแก่เพิ่งมาจากเมืองจีนไม่นาน ภาษาไทยก็ไม่สันทัดนัก ส่วนพ่อท่านก็อยู่แต่ในเกาะใหญ่ ภาษาไทยพื้นบ้านของพ่อท่านก็ฟังเข้าใจยาก แต่ทั้งสองท่านทำไมถึงสื่อสารกันรู้เรื่อง เคยเห็นท่านทั้งสองนั่งคุยกันทั้งคืนถึงเช้า ทุกครั้งที่เถ้าแก่มาพบพ่อท่านยอด)
จากการฟังธรรมะจากพ่อท่าน ทำให้เถ้าแก่มีความตั้งใจจะสร้างวัดตามที่พ่อท่านพูด จึงเริ่มค้นหาวิธีแบบอย่างที่จะสร้างวัด ตามที่พ่อท่านยอดบอก เมื่อได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ซึ่งก็เห็นด้วยทุกคน และแนะนำให้ไปศึกษาแบบอย่าง ของมูลนิธิป่อเต๊กตึ๊งที่กรุงเทพ เถ้าแก่ก็เข้ากรุงเทพ เพื่อขอคำแนะนำ เมื่อถึงมูลนิธิป่อเต๊กตึ๊ง ก็เข้าไปกราบหลวงปู่ ไต้ฮงโจวซือ ในศาล เมื่อเห็นองค์หลวงปู่เท่านั้น ก็รู้สึกทันทีว่าพระอาจารย์ที่พ่อท่านยอดพูดถึงก็คือ หลวงปู่ไต้ฮงโจวซือ นี่เอง เหมือนมีพลังที่มองไม่เห็นทำให้เถ้าแก่มีกำลังใจที่จะสร้างวัด(มูลนิธิ) และเมื่อได้รับคำแนะนำจากกรรมการของมูลนิธิป่อเต๊กตึ๊งแล้ว จึงกลับหาดใหญ่ เพื่อหารือกับเพื่อนๆ ถึงการริเริ่มงานชิ้นสำคัญนี้ (ขอข้ามเรื่องการสร้างวัดฯ (มูลนิธิ) ไว้เท่านี้ก่อน จะเล่าต่อในโอกาสต่อไป)
จากนั้นเป็นต้นมาเถ้าแก่ก็จะเข้าวัดเป็นประจำ จนประมาณปลายปีพ.ศ. 2496 ทางวัดอ่าวบัวมีงาน เถ้าแก่ก็ไปร่วมงานด้วย โดยจัดให้มีมโหรสพหลายอย่าง รวมทั้งวงดนตรีจีนมาร่วมบรรเลง มีเครื่องปั่นไฟฟ้าทำให้วัดสว่างไสวไปทั่ว ทั้งยังพาช่างภาพมาถ่ายรูปในงาน ช่างจากร้านโปจิน ถ.ธรรมนูญวิถี หาดใหญ่ เป็นช่างที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ถึงตอนหลังเพล เสร็จจากทำบุญแล้ว เถ้าแก่ก็ขอถ่ายรูปพ่อท่านไว้เป็นที่ระลึก แรกๆ พ่อท่านยังไม่ให้บอกว่า เกิดมายังไม่เคยถ่ายรูปเลย แต่เมื่อลูกศิษย์ทุกคนขอถ่ายรูปหมู่รวมกัน พ่อท่านจึงอนุญาต เมื่อถ่ายรูปหมู่แล้วก็ถ่ายรูปเดี่ยวพ่อท่านอีก 1 รูป เป็นครั้งแรกในชีวิตของท่านที่ถ่ายรูป รูปพ่อท่านยอดที่เห็นทั่วไป ก็เป็นรูปที่ถ่ายในงานครั้งนี้ เคยแจกทั่วไปในสมัยนั้น ทั้งรูป 12 นิ้ว, 5 นิ้ว และ 1 นิ้ว เฉพาะรูป 1 นิ้วนี้จะอัดกระจกหน้าหลัง เป็นวัตถุมงคลรุ่นแรกของพ่อท่านยอด
เมื่อต้นปีพ.ศ. 2497 เถ้าแก่ได้สร้างเหรียญขึ้นรุ่นหนึ่ง เป็นเหรียญเสมา เนื้อทองแดงชุบทองเนื้อเดียว ประมาณ 1,000 เหรียญ แต่ไม่ได้แจก เพราะพ่อท่านเกิดอาพาธเสียก่อน ทุกคนที่ทราบข่าวต่างก็เป็นห่วง เถ้าแก่ถึงกับเชิญหมอจากหาดใหญ่ มาเยียวยารักษาพ่อท่าน แต่ด้วยพ่อท่านชราภาพมากแล้ว ในที่สุดท่านก็ถึงกาลมรณะภาพ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2497 ดังชีวประวัติของพ่อท่านยอดที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่เถ้าแก่ ศิษยานุศิษย์ และชาวบ้านชาวเมืองที่นับถือพ่อท่านเป็นอย่างยิ่ง ทางวัดได้บำเพ็ญกุศลศพพ่อท่านเป็นเวลา 1 ปีเศษ เถ้าแก่ยังได้จัดงานทำบุญขึ้นอีกหลายครั้ง จนถึงงานฌาปนกิจซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 ในงานฌาปนกิจศพเป็นงานใหญ่ มีมโหรสพหลายอย่าง มีการเล่นดนตรีจีนคณะ เตี่ยเซียอิมเหง่าเซี๋ย ของเถ้าแก่และเพื่อนๆ ตลอดงาน ในงานได้แจกเหรียญพ่อท่านยอดรุ่นแรกไปบางส่วนพร้อมรูปถ่าย 1 นิ้ว อัดกระจก รูป 5 และ 12 นิ้ว หลังฌาปนกิจเสร็จ ทางวัดได้เก็บเถ้าอัฐิธาตุของพ่อท่านไว้โดยยังไม่ได้บรรจุไว้ที่ไหน
เสร็จงานฌมปนกิจพ่อท่านแล้ว เถ้าแก่ก็เข้ากรุงเทพเพื่อสร้างรูปเหมือนพ่อท่านยอด สร้างเสร็จประมาณปลายปี     พ.ศ. 2498 มีการแห่รูปเหมือนเข้าวัด จัดงานฉลองรูปเหมือนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และได้นำเถ้าอัฐิธาตุของพ่อท่าน     ยอด บรรจุไว้ในองค์รูปเหมือน (รูปเหมือนองค์นี้ ได้ตั้งอยู่ในวัดจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อหลายปีที่แล้ว มีการเคลื่อนย้าย  องค์รูปเหมือนหลายครั้ง ทำให้กระเทือนถึงดินที่ห่ออัฐิธาตุของพ่อท่าน จึงทำให้ดินและเถ้าอัฐิธาตุบางส่วนหลุดล่อนออกมา)
สำหรับเรื่องสร้างมูลนิธิ (วัดที่ช่วยเหลือผู้คนได้ของพ่อท่าน) หลังพ่อท่านมรณะภาพเมื่อปีพ.ศ. 2497 เถ้าแก่ก็ได้  ริเริ่มแล้ว เราจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไปถึงการก่อตั้งมูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง หาดใหญ่ และวัตถุมงคลทุกรุ่น
    ปัจจุบันทางวัดอ่าวบัวกำลังบูรณะอุโบสถที่พ่อท่านยอดได้สร้างไว้ ซึ่งชำรุดทรุดโทรมจนพระสงฆ์ทำสังฆกรรม  ไม่ได้ ขอเชิญชวนท่านทั้งหลาย ได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขร เพื่อพระสงฆ์ของวัดอ่าวบัวจะได้ปฏิบัติสังฆกรรมได้    โดยติดต่อเจ้าอาวาส พระมหาวิชาญ ปภัสสโร โทร.(074)587-060 มือถือ 087-398-8882 หรือจะ  เดินทางไปที่วัดด้วยตัวท่านเอง ให้ไปทางถนนสงขลา-นครศรีธรรมราช เข้าทางวัดพะโค๊ะ ถึง อ.กระแสสินธุ์ เข้าเกาะใหญ่ ที่วัดทุ่งบัว เลี้ยวซ้ายวิ่งรถอ้อมเกาะใหญ่อีกฝั่งของเกาะ ก็จะถึงวัดอ่าวบัว หาไม่ยาก ทิวทัศน์หน้าวัดสวยงามมาก อยู่ตรงข้ามเกาะสี่ เกาะห้า (เกาะรังนก) ได้กราบไหว้ขอพรจากรูปเหมือน พ่อท่านยอด สุวัณโณ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด จะช่วยให้มีความสุขและความเจริญ ............ สวัสดี
หลวงปู่ "ไต้ฮงโจวซือ" พระอาจารย์ที่พ่อท่านยอดกล่าวถึง